Leadership Development Model
เราคงต้องยอมรับว่าการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership Development) มีขอบเขตค่อนข้างกว้าง ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการพัฒนาใคร และพัฒนาทักษะหรือความสามารถอะไร เพื่อให้ตนเองมีความสามารถในการนำมากขึ้น ดังนั้นจึงควรมีกรอบความคิดของการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ (Mindset of Leadership Development) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้ชัดเจน
4 Dimensional Leadership Development เป็นโมเดลการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ ที่กำหนดทิศทางพัฒนาอย่างชัดเจนใน 4 มิติ หรือ 4 มุมมอง คือ 1) การนำตนเอง (Lead Yourself) 2) การนำผู้อื่น (Lead People) 3) ระบบการจัดการ (Management System) และ 4) การนำองค์กร (Lead Organization) และโมเดลนี้ถูกพัฒนามาจากองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ
1) จากการค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือต่าง ๆ และกรณีศึกษาด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ
2) ความรู้จากสถาบันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่งคือ The Center for Creative Leadership (CCL)
3) จากมุมมองในโมเดลและทฤษฎีการพัฒนาภาวะผู้นำต่าง ๆ ที่มีอยู่ นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
4) ความรู้จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ไปบรรยายหลักสูตร “การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำอย่างเป็นระบบ”โดยสรุปโมเดลนี้กำหนดทิศทางการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำไปในการบริหารจัดการธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และมีลักษณะการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำแบบความเป็นไทย
“การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ 4 มุมมอง คือ 1) การนำตนเอง (Lead Yourself) 2) การนำผู้อื่น (Lead People) 3) ระบบการจัดการ (Management System) และ 4) การนำองค์กร (Lead Organization)” การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำอย่างเป็นระบบ โดยแท้จริงแล้วไม่จำเป็นต้องพัฒนาแบบเรียงลำดับตามขั้นตอนอย่างเคร่งเครียด ผู้นำสามารถดึงทักษะหรือสมรรถนะ (Competency) ที่ต้องการขึ้นมาพัฒนาได้ทันที ซึ่งการพัฒนาสมรรถะต่าง ๆ รวมกันแล้ว จะส่งเสริมให้ภาวะความเป็นผู้นำของเราดีขึ้น เพราะภาวะผู้นำไม่ได้สร้างกันแค่เพียงวันเดียว ต้องลงมือทำทุกวันอย่างต่อเนื่อง ทำไปเรื่อย ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญที่เราควรวางรากฐานของการพัฒนาผู้นำก่อนไปนำผู้อื่นคือ การนำตนเองหรือความสามารถในการจัดการตนเอง
การนำตนเอง (Lead Yourself) หรือความสามารถในการจัดการตนเอง เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) ซึ่งส่งผลโดยตรงให้เกิด “ความเชื่อมั่น” ในตัวผู้นำ ดังนั้นก่อนที่จะไปนำผู้อื่น ผู้นำต้องมีความเชื่อมั่นและนำตนเองให้ได้ก่อน มิฉะนั้นพลังแห่งการนำจะไม่แสดงออกมาอย่างแท้จริง
การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง คือ กระบวนการสะสมความสำเร็จในมิติต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญหรือไม่สำคัญ รวบรวมสะสมเป็นประสบการณ์ของชีวิต โดยปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่น มีดังนี้
1) การทบทวนและตระหนักรู้ตนเอง (Review and Awareness)
“มองเห็น ยอมรับ อยากเปลี่ยนแปลง”
ผู้นำต้องกล้าทบทวนตนเอง ว่ามีข้อบกพร่องเรื่องใด มีจุดแข็งเรื่องใด การทบทวนและตระหนักรู้ตนเอง จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะ ความสามารถ ตลอดจนสมรรถนะต่าง ๆ (Competency) ของตนเองดีขึ้น2) การตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย (Challenging Goal Setting)
เมื่อมองเห็นตนเองแล้ว ต้องกล้าที่จะตั้งเป้าหมายที่ท้าทายตนเอง เพื่อให้ตนเองบรรลุความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง การไม่ตั้งเป้าหมาย ไม่ต่างอะไรกับรู้แล้วว่าตนเองควรทำอะไร แต่ไม่ยอมลงมือทำหรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลง3) ความสามารถและแรงจูงใจในการเรียนรู้ (Ability and Motivation to Learn)
ปัจจัยนี้มีความสำคัญมาก การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับข้อนี้ ถ้าความสามารถและแรงจูงใจในการเรียนรู้ต่ำ มีแนวโน้มพัฒนาช้า ถ้าความสามารถและแรงจูงใจในการเรียนรู้สูง มีแนวโน้มพัฒนาได้เร็ว
“ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่น 1) การทบทวนและตระหนักรู้ตนเอง (Review and Awareness) 2) การตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย (Challenging Goal Setting) และ 3) ความสามารถและแรงจูงใจในการเรียนรู้ (Ability and Motivation to Learn)”
การนำผู้อื่น (Lead People) หรือความสามารถในการนำผู้อื่น หลักการสำคัญของการนำผู้อื่นคือ ผู้นำต้องสร้างให้ผู้ตามเกิด “ความศรัทธา” หรือ “ความน่าเชื่อถือ” ในตัวผู้นำ ผลที่เกิดขึ้นคือลูกน้องจะทำงานหรือให้ความร่วมมืออย่างเต็มใจ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับ หรือต้องทำให้เพราะเกรงกลัว
“ความน่าเชื่อถือ” จะเกิดขึ้นได้ผู้นำต้องเป็นคนเก่ง ทักษะหรือความสามารถที่ผู้นำควรพัฒนาคือ
1) ความชำนาญในงานหรือในสายวิชาชีพ (Technical or Professional Expertise)
2) ความสามารถในการพัฒนาผู้อื่น (Ability to Develop Others)
3) ความสามารถในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานทุกระดับ (Ability to Build and Maintain Relationship)
4) ความสามารถในการสร้างกลุ่มทำงานที่มีประสิทธิผล (Ability to Build Effective Work Group)
5) ความสามารถในการสื่อสารสร้างพลังงานเชิงบวก (Powerful Communication)
“ความน่าเชื่อถือ” จะเกิดขึ้นได้ผู้นำต้องเป็นคนดี ความเก่งอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เก่งแล้วนิสัยไม่ดี อาจนำพาให้องค์กรไปสู่ความเสื่อมได้ ความสามารถที่ผู้นำควรพัฒนาคือ
1) ความซื่อสัตย์และความมีคุณธรรม (Honesty and Moral)
2) ความมีน้ำใจและใจกว้าง (Kindness and Generosity)
3) ความปรารถนาให้องค์กรเติบโต (Ownership Quotient)
“โดยสรุปการนำผู้อื่นคือ 1) การที่ผู้นำพยายามพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการทำงานและสอนงาน (Coaching) เพื่อช่วยแก้ปัญหาในการทำงานให้กับลูกน้อง 2) การที่ผู้นำพยายามพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในด้านมนุษยสัมพันธ์ (Human Relationship) และ 3) การที่ผู้นำพยายามพัฒนาตนเองให้มีคุณลักษณะหรือพฤติกรรมในด้านดี” ระบบการจัดการ (Management System) หรือความสามารถในการส่งเสริมการทำงาน ผู้นำต้องบริหารจัดการองค์กรอย่างมีทิศทาง ต้องกำหนดเป้าหมาย และมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน สามารถประเมินและบริหารผลการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Performance Management) โดยสอดคล้องกับทิศทางของการนำองค์กร (Lead Organization)
การนำองค์กร (Lead Organization) คือความสามารถในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย ตลอดจนความสามารถในการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร
โดยสรุปทั้ง 4 มุมมองนั้นเป็นแนวทางการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership Development) ให้เกิดขึ้นกับใครบางคน แต่ก่อนที่จะพัฒนาภาวะผู้นำ องค์กรควรพัฒนาผู้นำก่อน (Leader Development) หรืออาจกล่าวได้ว่าพัฒนาผู้นำให้สามารถนำตนเองได้ก่อน เพื่อเป็นรากฐานในการนำผู้อื่นและบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ต่อไป
(เครดิตข้อมูลบางส่วน: ภาวะผู้นำ (Leadership), รศ. ดร.รัตติกรณ์ จงวิศาล)
30 มกราคม 2564
ผู้ชม 6750 ครั้ง