ดูบทความการพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ

การพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ

หมวดหมู่: Articles

การพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ

โดยทั่วไปองค์กรต้องการความทุ่มเท ความขยัน ความมีประสิทธิผล และความมีประสิทธิภาพจากบุคลากร แลกกับการจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการต่าง ๆ (Compensation and Benefits) ให้กับบุคลากรอย่างสมเหตุผล แต่ความต้องการขององค์กรมีแนวโน้มไปในลักษณะที่ต้องการให้บุคลากรมี “จิตสำนึกความเป็นเจ้าของ” เกิดขึ้นในจิตใจด้วย ซี่งมีเหตุผลรองรับอย่างน่าเชื่อถือว่า “องค์กรใดมีบุคลลากรที่มีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของสูง องค์กรนั้นจะมีผลผลิตที่มีคุณภาพ เจริญเติบโตและมีความยั่งยืนสูงตามไปด้วย” ดังนั้นแนวคิดการพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของจึงได้รับความสนใจอย่างมากในภาคธุรกิจ

จิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (Ownership Quotient) คือ “ระดับของความคิดและความรู้สึกของตนเองที่มีต่อการพัฒนาตนเอง (Self - Development) ในบริบทของงานที่อยู่ในรับผิดชอบ และเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าหรือความสำคัญในบทบาทที่รับผิดชอบอยู่ในองค์กร”

เมื่อพิจารณาจากความหมายของจิตสำนึกความเป็นเจ้าของและตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าเราพัฒนาระดับ OQ ของตนเองให้สูงขึ้นจะเกิดประโยชน์อะไรบ้างต่อตนเองและองค์กร?

ประโยชน์ที่ได้รับต่อตนเองจากการพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ

  • ศักยภาพภายในตนเองได้รับการกระตุ้นให้ใช้มากขึ้น ส่งผลให้ความรู้ ทักษะ และความสามารถต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาสูงขึ้น
  • มีความเจริญก้าวหน้าทางอาชีพ ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาความรู้ ทักษะ และความสามารถ (KSA)
  • มีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบสูงขึ้น เนื่องจากต้องรับผิดชอบในการพัฒนาตนเองผ่านการรับผิดชอบงาน
  • มีความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ประสบการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา KSA จะติดอยู่กับตนเองตลอดไป ไม่ได้ติดอยู่กับตำแหน่งงาน จึงมีแนวโน้มว่าจะเลือกทำและสร้างสรรค์แต่สิ่งดี ๆ
  • มีความเชื่อที่ถูกต้องต่อทุกสภาพแวดล้อมว่า ความก้าวหน้าเกิดจากการลงมือพัฒนาตนเอง องค์กร สถานที่ หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และงาน เป็นสภาพแวดล้อมที่ให้โอกาสตนเองได้พัฒนา ถ้าไม่มีสภาพแวดล้อมดังกล่าวตนเองจะไม่เก่งขึ้น
  • เป็นที่รักของหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน เนื่องจากมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อทุกสภาพแวดล้อม แม้บางครั้งอาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ความขัดแย้งจะไม่ลุกลามบานปลาย
 “ประสบการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาความรู้ ทักษะ และความสามารถ (KSA) จะติดอยู่กับตนเองตลอดไป ไม่ได้ติดอยู่กับตำแหน่งงาน จึงมีแนวโน้มว่าจะเลือกทำและสร้างสรรค์แต่สิ่งดี ๆ” 

ประโยชน์ที่ได้รับต่อองค์กรจากการพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ

  • ผลผลิตขององค์กรสูงขึ้นทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) ครอบคลุมทั้งปริมาณและคุณภาพ
  • สร้างวัฒนธรรมการโค้ชขึ้นในองค์กร เนื่องจากการพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของต้องให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง ดังนั้นการฝึกคิดด้วยกระบวนการโค้ชชิ่งจึงเป็นเครื่องมือรองรับการพัฒนา OQ
  • ส่งเสริมการสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้แก่บุคลากรทุกระดับ เพราะหนึ่งในคุณสมบัติของภาวะความเป็นผู้นำคือ ความมีวินัยและความรับผิดชอบ
  • ส่งเสริมการสร้างความผูกพันต่อองค์การของพนักงาน (Employee Engagement) ด้วยแนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม
  • การวางแผนและจัดทำระบบสายงานอาชีพ ตลอดจนแผนสืบทอดตำแหน่งเพื่อสร้างความสามารถขององค์การ (Organization Capability) มีความชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้จริง

แนวทางการพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (ระดับตนเอง)

1) การยกระดับความรู้ ทักษะ และความสามารถ (KSA) ด้วยการพิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา KSA ของตนเอง ประโยชน์นี้จะเป็นแรงจูงใจและแรงขับดันตนเองให้เกิดพฤติกรรมที่คาดหวังต่อความสำเร็จ ดังนั้นเราต้องประเมินประโยชน์ให้เด่นชัดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น, การเลื่อนตำแหน่ง แม้กระทั่งการเป็นผู้ประกอบการเองในอนาคต

2) การยกระดับศักยภาพตนเองให้สูงขึ้น (Potential) การลองตั้งเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายความสามารถ หรือการพัฒนาตนเองในเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน โดยสิ่งใหม่เหล่านั้นควรมีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร เรียกว่าจะพัฒนาทั้งที่ต้องไม่เหนื่อยเปล่า ได้ทั้งงานและศักยภาพส่วนตัว

3) การยกระดับจิตใจตนเองให้สูงขึ้น (Mind) โดยข้อเท็จจริงประเด็นนี้มีความสำคัญที่สุด แต่อาจเห็นผลไม่เร็วและชัดเจนเป็นรูปธรรมในเชิงผลผลิต แนวคิดนี้ต้องการให้บุคลากรพัฒนาคุณลักษณะที่ดีให้เกิดกับตนเอง โดยใช้สภาพแวดล้อมของงานเป็นตัวขัดเกลาจิตใจ เช่น ความมีน้ำใจ, ความซื่อสัตย์, ความรับผิดชอบ, ความมีวินัย, ความมุ่งมั่น เป็นต้น ดังนั้นขณะปฏิบัติงานเราควรฝึกคุณลักษณะที่ดีเหล่านี้ร่วมไปด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อการยกระดับจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ

 “การยกระดับจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (ระดับตนเอง) ควรคำนึงถึงการพัฒนา 3 ประเด็นหลักคือ 1) KSA Development 2) Potential shifting และ 3) Mind Development”

แนวทางการพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (ระดับองค์กร)

1) สร้างระบบการมีส่วนร่วม (Participation) การมีส่วนร่วมของแต่ละคนในทีมเป็นปัจจัยสำคัญมากต่อการสร้างจิตสำนึกความเป็นเจ้าของในระดับองค์กร บุคลากรในองค์กรต้องเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าหรือความสำคัญในบทบาทที่รับผิดชอบ ไม่ว่าบทบาทนั้นจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ตาม เราสามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ดังนี้ การระดมสมองแก้ปัญหา, การมอบหมายงานพิเศษนอกเหนือจากงานประจำ, การขอความคิดเห็นทั่วไป, การตั้งกิจกรรมแก้ปัญหาคุณภาพ (QCC) เป็นต้น 

2) การให้อำนาจตัดสินใจ (Authority) เป็นการยกระดับจิตสำนึกความเป็นเจ้าของที่ผู้บริหารองค์กรควรคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสม โดยใช้กระบวนการมอบหมายงาน (Delegation Process) และการบริหารงานตามวัตถุประสงค์ (Management by Objectives) เป็นเครื่องมือในการพัฒนา โดยในกระบวนการจะให้อำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจตามขอบเขตที่ตกลงกัน ซึ่งผู้รับมอบหมายต้องปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบและสำนึกรับผิดชอบ (Responsibility and Accountability) แนวทางดังกล่าวสร้างระดับ OQ ได้สูง แต่ต้องระมัดระวังในการคัดเลือกคน 

3) การเอาใจใส่จากหัวหน้างาน (Empathy) เป็นแนวทางที่ง่ายที่สุดและได้ผลมาก โดยต้องเริ่มต้นที่ผู้บริหาร ผู้จัดการ และหัวหน้างาน ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและการปฏิบัติตนต่อลูกน้องด้วยความเอาใจใส่อย่างจริงใจ ทั้งคำพูดและการกระทำ ซึ่งความเอาใจใส่นี้ใช้ได้ผลทั้งการเพิ่มผลผลิตและระดับจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ

“การยกระดับจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (ระดับองค์กร) ควรคำนึงถึงการพัฒนา 3 ประเด็นหลักคือ 1) Participation 2) Authority และ 3) Empathy”

โดยสรุปองค์กรควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (Ownership Quotient) อาจกำหนดเป็นค่านิยมขององค์กรหรือใช้เป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมต่อการพัฒนา OQ ของบุคลากรแต่ละระดับ ซึ่งทั้งหมดนั้นส่งผลให้องค์กรมีผลผลิตที่มีคุณภาพ และเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

22 มกราคม 2561

ผู้ชม 31185 ครั้ง

Engine by shopup.com