ผู้นำกับกฎของการสะสม (The Law of Process)
ผู้นำคือใครบางคนที่มีคนยอมเดินตาม ปฏิบัติตาม หรือเชื่อในความคิดความอ่านอย่างในตัวผู้นำอย่างเต็มใจ ดังนั้นใครมีตำแหน่งหัวหน้า แต่ไม่มีลูกน้อง จึงยังไม่ใช่ผู้นำ เพราะผู้นำต้องมีคนเดินตาม หรือถ้าหัวหน้ามีลูกน้อง และลูกน้องทำงานเพราะตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย แต่ใจไม่เชื่อถือหรือศรัทธาในตัวหัวหน้า กล่าวได้ว่าหัวหน้าคนนั้นยังไม่ใช่หัวหน้าแบบ “ผู้นำ” เป็นเพียงหัวหน้าแบบ “ตำแหน่ง”
การเป็นผู้นำเป็นเรื่องสลับซับซ้อนและมีองค์ประกอบมากมาย มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ผู้นำต้องแสดงออก โดยสามารถยกเป็นตัวอย่าง อาทิเช่น การมีวิสัยทัศน์ การมีเป้าหมาย การสร้างมนุษยสัมพันธ์ ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม การแก้ปัญหา และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งความสามารถส่วนใหญ่ล้วนมองไม่เห็นหรือสัมผัสไม่ได้ ดังนั้นการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership Development) จึงควรมีระบบและกำหนดทิศทางให้ชัดเจน
ในการบรรยายหลักสูตร “การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำอย่างเป็นระบบ” (Systematic Leadership Development) ผมมักจะสอดแทรกกฎของผู้นำ 3 เรื่อง ดังนี้ 1) กฎของการสะสม (The Law of Process) 2) กฎของการฝึกฝน (The Law of Practice) และ 3) กฎของการซึมซับ (The Law of Absorption)
กฎของการสะสม กล่าวว่า “การเป็นผู้นำต้องสร้างทุกวัน ไม่ใช่สร้างแค่วันเดียวเลิก แต่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิต” โดยนัยยะคือการสะสมความเป็นผู้นำต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางคนจะเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ที่เหนือกว่าคนอื่น แต่ความสามารถในการเป็นผู้นำ ต้องอาศัยการสะสมทักษะหลายอย่าง และทักษะเกือบทุกอย่างสามารถเรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นผู้นำต้องมีความสามารถและแรงจูงใจในการเรียนรู้ (Ability and Motivation to Learn) เพื่อใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงทักษะของตนเองให้ดีขึ้น แต่กระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามคืน ต้องลงมือทำทุกวันอย่างต่อเนื่อง
“กฎของการสะสม กล่าวว่า “การเป็นผู้นำต้องสร้างทุกวัน ไม่ใช่สร้างแค่วันเดียวเลิก แต่ต้องใช้เวลาทั้งชีวิต” “กฎของการสะสม” ให้ลองนึกถึงการสร้างบารมีของพระพุทธเจ้า ต้องสะสมกันหลายภาพหลายชาติจนกว่าบารมีจะเต็ม แต่การสะสมภาวะความเป็นผู้นำไม่ต้องทำกันยาวนานขนาดนั้น ไม่อย่างนั้นจะท้อแท้หมดกำลังใจกันไปก่อน การเป็นผู้นำก็เหมือนกับการลงทุน ต้องสะสมและสร้างค่าให้กับตนเอง ลงทุนพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นทุกวัน (เปรียบเสมือนซื้อหุ้นพื้นฐานดี ซื้อสะสมไปเรื่อยๆ) และนำสิ่งที่ได้รับการพัฒนาแล้ว นำไปแก้ปัญหาในงาน ทีมงาน และองค์กร เพื่อให้ตนเองมีความน่าเชื่อถือหรือเกิดความศรัทธาในสายตาลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน ถ้าพูดกันในเชิงภาวะผู้นำแบบไทยๆ คือจะเป็นผู้นำคน ต้องหมั่นสร้างบารมีอย่างสม่ำเสมอ
แต่เดี๋ยวก่อนแล้วครับ จะให้สะสมและสร้างค่าอะไรจึงจะเป็นผู้นำที่ดีได้? ดังนี้ก่อนสะสมอะไร เราควรมีหลักการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ 4 ระยะ
ระยะที่ 1) ยอมรับ - ก่อนจะเป็นผู้นำที่ดี คุณต้องเปิดใจยอมรับก่อนว่า คุณยังไม่รู้อะไรอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาภาวะผู้นำ ยอมทำตัวเป็นเด็กเลี้ยงควาย ถ้าคิดว่าตนเองเก่งแล้ว ย่อมพัฒนาได้ยาก
ระยะที่ 2) สำรวจ – ให้สำรวจตนเองว่าควรเรียนรู้อะไรบ้าง ควรปรับพฤติกรรมอะไรบ้าง ที่ทำให้ภาวะผู้นำเราดีขึ้นในสายตาลูกน้อง ดังคำกล่าวว่า “การรู้ตัวว่าคุณไม่รู้อะไรอีกตั้งเยอะ เป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้”
ระยะที่ 3) เริ่มพัฒนา – จงเริ่มพัฒนาความเป็นผู้นำจากสิ่งที่คุณสำรวจตั้งแต่วันนี้ แล้วคุณจะเห็นผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์ด้วยตนเอง ให้คิดเสมอว่า “จะเป็นผู้นำวันพรุ่งนี้ ต้องเริ่มวันนี้ และต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลา”
ระยะที่ 4) ทำจนกลายเป็นนิสัย – เคล็ดลับไม่มี ให้ฝึกฝนเรื่องที่คุณอยากพัฒนาจนกลายเป็นนิสัยของคุณ จนกลายเป็นความเคยชิน ผมขอย้ำอีกครั้งว่า!!! ไม่มีเคล็ดลับ การฝึกฝนทำให้คนเป็นเลิศ และเราจะเรียนรู้เรื่องนี้อีกครั้งในหัวข้อ กฏของการฝึกฝน (The Law of Practice)
“การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ 4 ระยะ ดังนี้ 1) ยอมรับ, 2) สำรวจ, 3) เริ่มพัฒนา และ 4) ทำจนกลายเป็นนิสัย”
เมื่อคุณตั้งเป้าหมายในการสะสมทักษะและประสบการณ์ต่าง ๆ แล้ว ตอนนี้ต้องใช้ความมีวินัย (Discipline) ความพยายาม (Effort) และการจัดการอารมณ์ตนเองเป็นอย่างมาก (EQ) เพื่อให้เป้าหมายประสบความสำเร็จ โดยธรรมชาติคุณมีแนวโน้มจะล้มเลิกกลางคัน ดังนั้นแรงจูงใจในการเรียนรู้ (Motivation to Learn) จะเป็นสิ่งสำคัญมากในการผลักดันให้เป้าหมายสำเร็จ คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า คุณทำสิ่งนั้นไปทำไม คุณไม่อยากเป็นผู้นำแล้วเหรอ หรือแท้จริงแล้ว คุณชอบที่จะเป็นผู้ตามมากกว่า
(เครดิตข้อมูล: 21 กฎเหล็กแห่งการเป็นผู้นำ, John C. Maxwell)
04 กุมภาพันธ์ 2564
ผู้ชม 13251 ครั้ง